วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำไมต้อง BOI

จุดแข็งของประเทศไทย
ประตูสู่เอเชีย
ประเทศไทยได้เปรียบด้านยุทธศาตร์ที่ตั้งซึ่งเปรียบเป็นประตูสู่ใจกลางเอเชีย -ศูนย์กลางตลาดทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในปัจจุบัน

ไทยยังเป็นเส้นทางการค้าขายที่สะดวกกับจีน อินเดีย และประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และ เส้นทางเปิดกว้างสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง


ศูนย์กลางของอาเซียน
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งอาเซียน และมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งและพัฒนาเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า)

อาฟต้ามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับสมาชิกดั้งเดิมของอาเซียน 6 ประเทศ (อาเซียน-6) ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ส่งผลให้อากรขาเข้าระหว่างกันลดเหลือศูนย์ ขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน หรือกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2558
ประเทศไทยมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ  และสินค้าและบริการของไทยได้เข้าสู่ตลาดอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นที่อาศัยของประชากรมากกว่า 500 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการค้ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี


ความมั่นคงทางสังคมและการเมือง
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธที่เป็นมิตรและต้อนรับชาวต่างชาติ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประชาชนให้ความเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูง และมีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ทั้งนี้ แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ประเทศไทยเปิดกว้างยอมรับทุกศาสนาโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก


เศรษฐกิจที่เติบโต
ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน  มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การส่งออกที่แข็งแกร่ง และตลาดผู้บริโภคภายในประเทศที่ตื่นตัว นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม สมบูรณ์ประกอบกับแรงงานที่มีฝีมือและประสิทธิภาพยังช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เสริมสร้างความมั่งคั่งให้ธุรกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ


โครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม
ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งที่ทันสมัย การคมนาคมและโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าเพื่อสร้างบรรยากาศในการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตที่ดีที่สุด มีนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกที่นำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกอันทันสมัยและบริการสนับสนุนที่ตอบสนองความต้องการของทั้งบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม


นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
นโยบายการลงทุนของประเทศไทยมีความชัดเจนโดยมุ่งเน้นการเปิดเสรีและส่งเสริมการค้าเสรี รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างจริงจัง ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากผลการสำรวจนานาชาติให้เป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง รายงานธนาคารโลกว่าด้วยความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2553 ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก


การสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ภาครัฐ
หน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนนักลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า และบริการสนับสนุนแก่กิจการลงทุนหลากหลายประเภท

ในอุตสาหกรรมการผลิต บริษัทสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้โดยไม่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้น เงื่อนไขการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ หรือ เงื่อนไขส่งออก เนื่องจากประเทศไทยปฏิบัติตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังเป็นผู้ประสานงานหลักของศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานซึ่งอำนวยความสะดวกให้พนักงานชาวต่างชาติของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับใบอนุญาตทำงานและวีซ่าระยะยาวอย่างรวดเร็วภายใน 3 ชั่วโมง หรือ เร็วกว่านั้น
นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ OSOS ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกด้วยบริการแบบเบ็ดเสร็จและลดขั้นตอนด้านการลงทุน โดยการนำผู้แทนหน่วยงานภาครัฐกว่า 20 หน่วยงานมาให้บริการแก่นักลงทุน ณ สถานที่แห่งเดียว
นอกเหนือจากการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว หน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก และหอการค้าประเทศต่างๆได้ให้การสนับสนุนที่เป็นประโยชน์และบริการต่างๆที่จำเป็นแก่นักลงทุนเช่นกัน


อุตสาหกรรมที่มีการพัฒนามายาวนาน และอุตสาหกรรมดาวรุ่งใหม่
ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยได้เติบใหญ่และแตกแขนงออกไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในสาขาอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนามายาวนาน และอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมและชักจูงอุตสาหกรรม 6 สาขาหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ 1)เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร 2)พลังงานทดแทน 3)ยานยนต์ 4)อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5)แฟชั่น และ 6) บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง บริการเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยว


วัฒนธรรมที่เป็นมิตรและหลายหลาย
ประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องมารยาทในการต้อนรับ ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นมิตรของคนไทย และความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้นักลงทุนในประเทศไทยรู้สึกอุ่นใจและผ่อนคลาย


การศึกษาและบริการเพื่อสุขภาพ
มาตรฐานการศึกษาของไทยเป็นที่ยอมรับจากสถาบันระหว่างประเทศที่ดำเนินการสอบหลายแห่ง  โรงเรียนและวิทยาลัยนานาชาติในประเทศไทยให้การศึกษาชั้นนำระดับโลก ขณะที่มหาวิทยาลัยก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน
ในส่วนของบริการเพื่อสุขภาพ ประเทศไทยได้พัฒนาและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกเนื่องจากแพทย์และบุคลากรการแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัย บริการเพื่อสุขภาพของไทยมีความแข็งแกร่งส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ กลายเป็นหนึ่งในสาขาการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร็วที่สุดของไทย ผู้ป่วยจำนวนมากจากนานาประเทศเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับบริการสุขภาพมาตรฐานระดับโลกในราคาย่อมเยา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(จาก www.boi.go.th)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น